วีซ่าสำหรับนักศึกษา อาจารย์ต่างชาติ

การดำเนินงานด้านวีซ่า

Non-Immigrant Visa (อาจารย์ นักศึกษา)

การขอวีซ่า คือการออกจดหมายตอบรับ พร้อมจดหมายอำนวยความสะดวกในการขอ
วีซ่า ให้แก่อาจารย์ นักศึกษาต่างชาติ เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นขอวีซ่า ณ สถานทูตไทยในต่างประเทศ (Non-Immigrant B สำหรับอาจารย์, Code RS สำหรับนักวิจัย และ Code ED สำหรับนักศึกษา

                เอกสารที่ส่งสำนักงานวิรัชกิจ

– บันทึกข้อความจากคณบดี/ผู้อำนวยการ

– หนังสือสัญญาจ้าง/หนังสือตอบรับทำวิจัย/เข้าศึกษา

– สำเนาหนังสือเดินทาง (หน้าแรก) (ถ้ามี)

ผู้ได้รับ Non-Immigrant Visa ทุกประเภท เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 90 วัน หากประสงค์จะอยู่ต่อเกิน 90 วัน จะต้องดำเนินการขอต่อวีซ่าภายใน 1 เดือนก่อนวีซ่าจะหมดอายุ

หมายเหตุ: 1.ในกรณีที่นักศึกษาต่างชาติได้รับ Non-Immigrant ED จากสถาบันการศึกษาอื่นก่อนมาเป็นนิสิตจุฬาฯ นิสิตจะต้องแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขอเปลี่ยนสถานศึกษาโดยเร็วที่สุด โดยใช้เอกสารดังต่อไปนี้

– จดหมายแจ้งยกเลิกวีซ่าที่สถาบันอื่นเป็นผู้ดำเนินการขอให้

– จดหมายตอบรับเข้าศึกษาที่จุฬาฯ

– จดหมายขอให้ออกวีซ่า (จากจุฬาฯ) พร้อมเอกสารอื่นๆ ได้แก่ แบบฟอร์ม ตม. 87 สำเนาหนังสือเดินทาง (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง) รูปถ่ายขนาด 4 x 6 ซ.ม. จำนวน 1 รูป และค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด

  1. ในกรณีที่อาจารย์ นักวิจัย และนิสิตต่างชาติขอวีซ่าแบบ Multiple Entry หมายความว่า ผู้ได้รับวีซ่าสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้หลายครั้งภายในเวลาที่กำหนด (ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อขอวีซ่ากลับเข้ามาทุกๆ 90 วัน) ในช่วง 1 เดือนก่อนวีซ่าจะหมดอายุ สามารถขอต่อวีซ่าได้ตามแนวปฏิบัติเรื่องการต่อวีซ่า

 

การต่อวีซ่า คือการออกจดหมายขอความอนุเคราะห์ในการต่อวีซ่า ณ สำนักงานกองตรวจคนเข้าเมือง โดยจะสามารถขอต่อวีซ่าได้ในช่วง 1 เดือนก่อนวีซ่าจะหมดอายุ โดยสามารถต่อวีซ่าได้ไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่หมดอายุ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่จะทำงาน ทำวิจัย หรือศึกษา (ในทางปฏิบัติจุฬาฯจะขอให้เกินอีก 15 วัน)

                เอกสารที่คณะ/สถาบันส่งสำนักงานวิรัชกิจ

– บันทึกข้อความจากคณบดี/ผู้อำนวยการ

– สำเนาหนังสือเดินทาง (หน้าแรก และหน้าวีซ่าล่าสุด)

เอกสารที่ยื่นตม.

  • แบบฟอร์ม ตม.7
  • รูปถ่ายขนาด 4 x 6 ซม. จำนวน 1 รูป
  • เงินค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด
  • สำเนาหนังสือเดินทาง (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)

สำหรับนักศึกษาต่างชาติ

  • จดหมายขอต่อวีซ่า
  • หลักฐานการศึกษา

สำหรับอาจารย์ต่างชาติ

  • จดหมายขอต่อวีซ่า
  • ใบอนุญาตทำงาน หรือใบรับคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว (ตท.2)
  • สัญญาว่าจ้าง
  • หลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ในรอบปีที่ผ่านมา

หมายเหตุ: ผู้ที่วีซ่าหมดอายุแล้ว และผู้ไม่แจ้งขอเปลี่ยนสถานศึกษา จะต้องเสียค่าปรับวันละ 500 บาท
สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท


วีซ่าอื่นๆที่ไม่ใช่ Non-Immigrant Visa (นักศึกษา)

ผู้ได้รับวีซ่าอื่นๆที่ไม่ใช่ Non-Immigrant Visa ได้แก่ Tourist Visa (30 หรือ 60 วัน) ผ. 30 (ผ่อนผัน 30 วัน) ผ. 90 (ผ่อนผัน 90 วัน) จะต้องดำเนินการเปลี่ยนประเภทวีซ่าเป็น Non-Immigrant Visa ภายใน 15 วัน ก่อนวีซ่าจะหมดอายุ

1) หากระยะเวลาวีซ่าเหลือน้อยกว่านั้น แต่ยังไม่หมดอายุ จะต้องดำเนินการดังนี้

  • ถ้าเป็น Tourist Visa สามารถไปติดต่อขอวีซ่าที่ ตม. ได้ไม่เกิน 30 วัน โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด
  • ถ้าเป็น ผ. 30 สามารถไปติดต่อขอวีซ่าที่ ตม. ได้ไม่เกิน 7 วัน โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด

หลังจากนั้น ก่อนครบกำหนด 15 วันที่วีซ่าจะหมดอายุ ต้องขอเปลี่ยนประเภทวีซ่า

หมายเหตุ: หากวีซ่าหมดอายุจะต้องเดินทางกลับประเทศ แล้วดำเนินการขอวีซ่า ณ สถานทูตไทยในต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

2) ผู้ที่มาจากประเทศซึ่งอยู่ในตารางแนบท้ายอาจดำเนินการดังนี้

  • ออกจากประเทศไทย และขอวีซ่าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อกลับเข้ามาด้วย ผ.15 (ชาวมาเลเซียจะกลับเข้ามาด้วย ผ.30) แต่ระยะเวลา 15 วันไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนประเภทวีซ่า จึงจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศ แล้วดำเนินการขอวีซ่า ณ สถานทูตไทยในต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

3) ผู้ที่มาจากประเทศซึ่งไม่อยู่ในตารางแนบท้าย จะต้องเดินทางกลับประเทศ แล้วดำเนินการขอวีซ่า ณ สถานทูตไทยในต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

การเปลี่ยนประเภทวีซ่า คือการเปลี่ยนประเภทวีซ่าจากวีซ่าอื่นๆที่ไม่ใช่ Non-Immigrant Visa ให้เป็น Non-Immigrant Visa Code ED / Code RS โดยจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 90 วัน

                เอกสารที่คณะ/สถาบันส่งสำนักงานวิรัชกิจ

– บันทึกข้อความจากคณบดี/ผู้อำนวยการ

– หนังสือตอบรับทำวิจัย/เข้าศึกษา

– สำเนาหนังสือเดินทาง (หน้าแรก และหน้าวีซ่าล่าสุด)

เอกสารที่ยื่นตม.

– จดหมายขอให้เปลี่ยนประเภทวีซ่า (จากจุฬาฯ) พร้อมเอกสารอื่นๆ ได้แก่ แบบฟอร์ม ตม. 86 สำเนาหนังสือเดินทาง (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง) รูปถ่ายขนาด 4 x 6 ซ.ม. จำนวน 1 รูป ค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด และหลักฐานการศึกษา

สำหรับนิสิต/อาจารย์ต่างชาติที่มีความประสงค์จะเดินทางออกนอกประเทศไทย

และกลับเข้ามาในภายหลัง ต้องดำเนินการขอ Re-Entry Permit ก่อนเดินทาง คือการขออนุญาต กลับเข้ามาใหม่ในราชอาณาจักร โดยที่ยังคงเก็บรักษาสิทธิวีซ่าเดิมก่อนออกไปไว้ตามเดิม ไม่เช่นนั้น เมื่อมีการเดินทางออกนอกประเทศไทย วีซ่าที่มีอยู่เดิมจะสิ้นสุดลงทันที

โดยสามารถติดต่อขอทำ Re-Entry Permit ได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง